พระราชวังโบราณ หรือพระราชวังหลวง เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และเป็นทั้งศูนย์กลางด้านการเมืองและการปกครองในเวลาเดียวกัน เมื่อแรกสร้างกรุงศรีอยุธยานั้นสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๑๒) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดพระศรีสรรเพชญ์
วัดพระศรีสรรเพชญ์ เดิมเป็นพระราชวังที่ประทับซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้น ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. ๑๙๙๑ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชวังไปสร้างใหม่ทางด้านริมแม่น้ำลพบุรี และอุทิศพระราชวังให้เป็นวัดสำหรับประกอบพิธีต่าง ๆ
วัดราชบูรณะ เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. ๑๙๖๗ ในบริเวณที่ถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทั้งสองของพระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากการรบแย่งชิงราชสมบัติ
วิหารพระมงคลบพิตร พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปบุทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศ ไทย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๙ จอมพลป.พิบูลสงครามได้บูรณะวิหารพระมงคลบพิตรใหม่ทั้งหมดดังที่ปรากฏใน ปัจจุบัน
วัดมเหยงคณ์ เดิมเป็นพระอารามหลวง และกลายเป็นวัดร้างไปภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ วัดนี้ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ ๕ ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่นอกเขตเมืองมาทางทิศตะวันออก ถ้าเดินมาจากถนนสายเอเชีย แยกเข้าสู่ถนนโรจนะเพื่อมุ่งเข้าเกาะเมือง พอมาถึงเจดีย์วัดสามปลื้มเลี้ยวขวาอ้อมวงเวียนมาตามถนนระยะทางประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ก็จะถึงทางเข้าวัดมเหยงคณ์ ท่านจะมองเห็นผนังอุโบสถก่อด้วยอิฐสีแดงตระหง่านแต่ไกล
บริเวณโคกโพธิ์เป็นเนินดินตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพุทธาวาส ลักษณะเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาว 58 เมตร กว้าง 50 เมตร อาจเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับของพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ ต่อมาเมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้ คงจะได้สร้างเจดีย์เล็ก ๆ หรือสิ่งก่อสร้างอื่น เพราะสังเกตเห็นเป็นมูลดินเตี้ยๆ คล้ายเจดีย์อยู่หลายแห่ง ได้พบรากฐานอิฐและกระเบื้องอยู่มาก (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ลานธรรมจักษุ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น